PEDIGREE TH
ค้นหา
สุขภาพของสุนัข

โรคปริทันต์ (เหงือก) ในสุนัข – สาเหตุ อาการ ระยะ และการป้องกัน

Periodontal Disease

โรคปริทันต์ในสุนัข เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับเหงือกและอวัยวะที่ยึดเหนี่ยวฟัน จัดเป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยที่สุดในสุนัข สาเหตุเริ่มต้นจากการสะสมของเชื้อแบคทีเรียจนเกิดเป็นคราบพลัคและหินปูน ซึ่งทำลายโครงสร้างที่รองรับฟัน ส่งผลให้เกิดโรคเหงือกอักเสบในสุนัขและพัฒนากลายเป็นโรคปริทันต์อักเสบ

โรคนี้อาจทำให้น้องหมาเกิดความเจ็บปวดอย่างรุนแรง มีกลิ่นปาก และฟันหลุดร่วง ผู้เลี้ยงจึงควรทำความเข้าใจระยะของโรคปริทันต์ในสุนัข เนื่องจากการตรวจพบและการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยป้องกันความเสียหายที่ไม่สามารถรักษาได้ ตั้งแต่ภาวะอักเสบไปจนถึงการติดเชื้อและการสูญเสียฟัน การดูแลรักษาและตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำจะช่วยให้เราจับสัญญาณของโรคและรักษาได้อย่างทันท่วงที

ระยะของโรคปริทันต์ในสุนัข

โรคปริทันต์แบ่งตามลักษณะอาการออกเป็น 4 ระยะ การทำความเข้าใจระยะของโรคจะช่วยให้เราวินิจฉัยและเริ่มรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

ระยะที่ 1 - เหงือกอักเสบ

เหงือกอักเสบจะเกิดขึ้นในระยะแรกของโรค เหงือกที่อักเสบจะมีลักษณะบวมแดง แต่การอักเสบจะยังไม่เกิดขึ้นในบริเวณอื่น ๆ

ระยะที่ 2 - โรคปริทันต์ระยะเริ่มต้น

ในระยะนี้ การอักเสบหรือระดับความเสียหายของอวัยวะปริทันต์ที่ทำหน้าที่ยึดเหนี่ยวฟันมีมากกว่า 25% ทำให้โครงสร้างที่รองรับฟันอ่อนแอลง

ระยะที่ 3 - โรคปริทันต์ระยะกลาง

ระดับความเสียหายอยู่ที่ 25 – 50% ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสุขภาพช่องปาก

ระยะที่ 4 - โรคปริทันต์ระยะสุดท้าย

ในระยะสุดท้ายของโรค ระดับความเสียหายของโครงสร้างปริทันต์จะมากกว่า 50% ถือเป็นระยะการติดเชื้อเหงือกสุนัขขั้นรุนแรง ซึ่งจะนำไปสู่การสูญเสียฟันและโรคเหงือกอักเสบของสุนัขขั้นรุนแรง

สัญญาณเตือนและอาการของโรคปริทันต์ในสุนัข

โรคปริทันต์ในสุนัขเป็นภัยเงียบที่ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่มองข้ามไป เพราะอาการจะไม่แสดงในทันที ต้องหมั่นสังเกตอยู่เสมอ การตระหนักถึงสัญญาณเตือนของโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงมีความสำคัญมากต่อการรักษาและการบรรเทาความเจ็บปวด โดยสัญญาณเตือนสำคัญที่ควรระวังมีดังนี้

1. อาการเริ่มแรก

  • มีกลิ่นปาก 
  • เหงือกอักเสบ บวมแดง
  • มีหินปูนบนผิวฟัน
  • มีเลือดออกเล็กน้อยตามแนวเหงือก

2. อาการระยะที่สอง

  • น้ำลายไหลมาก
  • ชอบเคี้ยวปากข้างใดข้างหนึ่ง
  • ฟันโยก ริมฝีปากสั่น
  • มองเห็นรากฟัน

3. อาการขั้นรุนแรง

  • ฟันโยกหรือหลุด
  • ไม่สามารถเคี้ยวอาหารเม็ดหรือขนมได้
  • พบเจอเลือดบริเวณของเล่นหรือชามน้ำ
  • หน้าบวม (แสดงว่ามีฝีหนอง)

4. พฤติกรรมเปลี่ยน

  • ความอยากอาหารลดลง
  • มีอาการหงุดหงิด
  • เกาปาก
  • ไม่สามารถเปิดหรือปิดปากได้สนิท

5. ปัญหาสุขภาพทั่วไป

  • น้ำหนักลด
  • จามหรือน้ำมูกไหล
  • มีของเหลวไหลออกจากปาก
  • มีอาการซึม ไม่ทำกิจกรรม

หากคุณสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ โปรดปรึกษาสัตวแพทย์ทันที การตรวจและวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ สามารถป้องกันความเสียหายและช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้

สาเหตุของโรคปริทันต์ในสุนัข

การทำความเข้าใจสาเหตุของโรคปริทันต์จะช่วยให้คุณป้องกันการเกิดโรคและปกป้องสุขภาพช่องปากของเจ้าตัวน้อยได้ดียิ่งขึ้น โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคปริทันต์และโรคเหงือกในสุนัขมีดังนี้

1. แบคทีเรียและคราบพลัค

สาเหตุหลักของโรคปริทันต์ในสุนัขคือคราบแบคทีเรีย แบคทีเรียในปากจะสะสมและก่อตัวเป็นสารเหนียวที่เรียกว่าคราบพลัค เมื่อเวลาผ่านไป แร่ธาตุในน้ำลายจะทำให้คราบพลัคแข็งตัวกลายเป็นหินปูน ทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบของสุนัข

2. ละเลยการดูแลช่องปาก

สุขอนามัยที่ไม่ดีจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปาก ทำให้เกิดการสะสมของคราบพลัคและหินปูน ซึ่งส่งผลให้อาการของโรคปริทันต์และโรคเหงือกในสุนัขรุนแรงขึ้น

3. ลักษณะสายพันธุ์

สุนัขบางสายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่มีช่วงปากเล็กและสั้น มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเหงือกมากกว่าเพื่อน เพราะโครงสร้างฟันและกรามที่เล็กทำให้เศษอาหารติดฟันได้ง่ายขึ้น ส่งเสริมการสะสมของคราบพลัคและการติดเชื้อเหงือกสุนัข

4. การบาดเจ็บและบาดแผล

การบาดเจ็บหรือบาดแผลในช่องปากก็ทำให้เกิดโรคปริทันต์ได้เช่นกัน ฟันหรือเหงือกที่เสียหายจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียมากกว่าปกติ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเหงือกของสุนัข

วิธีการป้องกันโรคปริทันต์ในสุนัข

การป้องกันโรคปริทันต์มีความสำคัญต่อสุขภาพโดยรวมของสุนัข และต่อไปนี้คือคำแนะนำในการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ

1. แปรงฟันให้น้องหมาเป็นประจำ

การแปรงฟันสุนัขเป็นประจำโดยใช้ยาสีฟันและแปรงสีฟันสำหรับสุนัขโดยเฉพาะสามารถป้องกันการสะสมของคราบจุลินทรีย์และโรคเหงือกอักเสบในสุนัขได้ หลีกเลี่ยงการใช้ยาสีฟันของคนเนื่องจากมีฟลูออไรด์ซึ่งเป็นพิษต่อสุนัข

2. หมั่นตรวจสอบช่องปาก

ตรวจสอบช่องปากของน้องหมาเป็นประจำเพื่อเช็กกลิ่นปาก รอยแดง คราบหินปูนหรือฟันที่โยก การตรวจพบความผิดปกติแต่เนิ่น ๆ สามารถป้องกันการลุกลามของโรคเหงือกในสุนัขได้

3. เลือกอาหารและขนมสูตรพิเศษ

เลือกให้อาหารและขนมสุนัขสูตรควบคุมหินปูนและส่งเสริมสุขภาพช่องปาก สามารถปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุดได้

4. ตรวจสุขภาพช่องปากทุกปี

นัดตรวจช่องปากกับสัตวแพทย์อย่างละเอียดเป็นประจำทุกปี สุนัขที่เสี่ยงต่อโรคอาจต้องตรวจทุก ๆ หกเดือนเพื่อติดตามสัญญาณเตือนของโรค

การรักษาโรคปริทันต์ในสุนัข

การรักษาโรคปริทันต์อาศัยการดูแลจากสัตวแพทย์ร่วมกับการดูแลช่องปากที่บ้านอย่างเคร่งครัด ขั้นตอนสำคัญในการจัดการและรักษาโรคเหงือกของสุนัขอย่างมีประสิทธิภาพมีดังนี้

1. การทำความสะอาดช่องปากโดยผู้เชี่ยวชาญ

การทำความสะอาดช่องปากและฟันโดยสัตวแพทย์ภายใต้การดมยาสลบถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการรักษาโรคปริทันต์ในระยะต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการตรวจสุขภาพช่องปาก การเอกซเรย์ฟัน การขูดหินปูน และการขัดฟัน ในบางกรณีอาจต้องถอนฟันด้วย

2. การแปรงฟันอย่างถูกต้อง

การแปรงฟันเป็นประจำช่วยป้องกันโรคเหงือกของสุนัขได้ แนะนำให้เลือกใช้ยาสีฟันสำหรับสุนัขโดยเฉพาะเพื่อจัดการกับคราบพลัคและหินปูน

การดูแลรักษาความสะอาด การตรวจสุขภาพ การแปรงฟันอย่างเหมาะสม และการกินอาหารที่ดีคือขั้นตอนสำคัญในการป้องกันโรคเหงือกและโรคฟันในสุนัข อีกทั้งยังช่วยให้น้องหมามีความสุขและมีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วย

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคปริทันต์ในสุนัข

โรคปริทันต์ในสุนัขรักษาอย่างไร?

การรักษาโรคปริทันต์ในสุนัขสามารถทำได้ด้วยการทำความสะอาดช่องปาก การขูดหินปูน และการขัดฟัน กระบวนการเหล่านี้ควรทำโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะมีการดมยาสลบ และในกรณีที่รุนแรงอาจมีการถอนฟัน การแปรงฟันให้น้องหมาที่บ้านเป็นประจำก็สามารถจัดการและป้องกันโรคเหงือกอักเสบของสุนัขได้เช่นกัน

อะไรคืออาหารที่ดีสำหรับน้องหมาที่ป่วยเป็นโรคปริทันต์?

การป้องกันโรคปริทันต์ในสุนัขมีวิธีใดบ้าง?

น้องหมาที่ป่วยเป็นโรคปริทันต์อยู่ได้นานแค่ไหน?

Pedigree imagery
ช้อปผลิตภัณฑ์เพดดิกรี®