PEDIGREE TH
ค้นหา

พัฒนาการที่สำคัญ

มาติดตามพัฒนาการของลูกสุนัขในแต่ละช่วงวัย เริ่มตั้งแต่เป็นลูกหมาตัวน้อยจนกลายเป็นสุนัขโตเต็มวัย

Spaniel Puppy

การเลี้ยงลูกสุนัขแรกเกิดและการดูแลลูกสุนัขทั่วไป

จากผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่า ลูกสุนัขต้องการสารอาหารแตกต่างจากสุนัขในวัยอื่น ๆ ดังนั้นเพื่อการเริ่มต้นก้าวแรกที่ดีและให้พวกเค้าเติบโตอย่างแข็งแรง จึงควรเลือกให้อาหารที่เหมาะกับช่วงวัยของพวกเค้า ทั้งนี้ช่วงการเจริญเติบโตของสุนัขจะขึ้นอยู่กับขนาดตัวของแต่ละสายพันธุ์ด้วย อย่างสุนัขพันธุ์เล็กจะโตเต็มวัยเร็วกว่าสุนัขพันธุ์ใหญ่

การฝึกทักษะและการเข้าสังคมตั้งแต่ช่วงวัยลูกสุนัข จะช่วยให้พวกเค้ามีวินัยและมีพฤติกรรมที่เหมาะสมเมื่อโตเป็นสุนัขโตเต็มวัย ทั้งนี้พัฒนาการของลูกสุนัขสามารถแบ่งออกเป็น 5 ช่วง โดยคุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของแต่ละช่วงได้จากตารางพัฒนาการลูกสุนัขด้านล่างนี้

ช่วงวัยแรกเกิด

เป็นช่วงแรกในการเจริญเติบโตของลูกสุนัข และถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ พวกเค้าจะยังไม่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองได้ จึงต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแม่สุนัข ในช่วงวัยนี้ ลูกสุนัขมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการกินและการนอน พวกเค้าจะยังมองไม่เห็นและไม่ได้ยินเสียง แต่สามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยการสัมผัสและดมกลิ่น ลูกสุนัขจะลืมตาเมื่อมีอายุประมาณ 10 – 14 วัน แม้จะลืมตาแล้ว แต่พวกเค้าจะยังไม่ตอบสนองต่อแสงหรือการเคลื่อนไหวจนกว่าจะมีอายุ 2 – 3 สัปดาห์ ลูกสุนัขในช่วงแรกเกิดสามารถเคลื่อนที่ได้ระยะสั้น ๆ ด้วยการคลานช้า ๆ นอกจากนี้ขาทั้งสี่ข้างของพวกเค้าจะยังไม่สามารถยืนและรับน้ำหนักของตัวเองได้ ในช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่ลูกสุนัขต้องการแม่ พวกเค้าจะไม่ยอมห่างจากแม่สุนัขเลย เจ้าตัวน้อยเหล่านี้จะเริ่มส่งเสียงเล็ก ๆ ขยับหัวไปมา และคลานหาว่าแม่ตัวเองอยู่ตรงไหน อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่เราควรรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของลูกหมาวัยนี้ คือจะยังไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิในร่างกานตัวเองได้ดีนัก ดังนั้นจึงต้องอาศัยแม่และพี่น้องตัวอื่นในครอกเพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย นอกจากการให้ดูดนมเป็นอาหารแล้ว แม่สุนัขยังต้องช่วยกระตุ้นการขับถ่ายของลูกสุนัขด้วยการเลียบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ รวมถึงต้องทำความสะอาดพื้นที่รังของตัวเองด้วยการกินของเสียลูก ๆ เข้าไป การเตรียมความพร้อมเพื่อดูแลลูกสนัขในช่วงสองสัปดาห์แรกนั้น จะส่งผลดีกับพฤติกรรมของพวกเค้าในอนาคต

ช่วงเปลี่ยนผ่าน

เข้าสู่ช่วงที่สองของพัฒนาการลูกสุนัข คุณจะพบกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของพวกเค้า โดยลูกสนัขจะเริ่มแสดงพฤติกรรมการเข้าสังคมแบบสุนัขโตเต็มวัย อย่างการส่งเสียงคำรามและแกว่งหางไปมา รวมถึงการเล่นซนกับพี่น้องในครอก ทางด้านร่างกาย ดวงตาของพวกเค้าจะเริ่มตอบสนองต่อแสงไฟและการเคลื่อนไหวรอบตัว ส่วนหูของพวกเค้าก็จะเริ่มได้ยินเสียงแล้ว ลูกสุนัขจะเริ่มแสดงความสนใจอาหารชนิดอื่น ๆ แม้จะยังต้องกินนมแม่ รวมถึงสามารถกินน้ำจากชามได้ด้วยตนเอง ในช่วงวัยนี้ ลูกสุนัขไม่จำเป็นต้องถูกเลียกระตุ้นการขับถ่ายจากแม่สุนัขแล้ว พวกเค้ามีความผ่อนคลายมากขึ้น และจะเริ่มออกห่างจากรัง

ช่วงเข้าสังคม

เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่มีอิทธิพลมากที่สุดในชีวิตของลูกสุนัข ทักษะและสิ่งต่าง ๆ ที่เรียนรู้ในช่วงเวลานี้อาจคงอยู่ตลอดชีวิตของลูกสุนัข พัฒนาการของลูกสุนัขในวัยนี้คือการเริ่มเข้าสังคมและการสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัว เจ้าของควรฝึกให้เข้าคุ้นเคยกับการเข้าหาคนอื่น การทำความรู้จักสิ่งของรอบตัว และการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่พวกเค้าอาจต้องพบในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ตามลำพังในช่วงสั้น ๆ การไปพบสัตวแพทย์ และการเดินทางด้วยรถยนต์ พัฒนาการสุนัขเมื่อมีอายุ 3 สัปดาห์ คือการตอบสนองต่อเสียงดัง รวมถึงเริ่มยืนขึ้น เดินไปมา และอาจส่งเสียงเห่าเป็นครั้งแรก เช่นเดียวกับคนเรา สุนัขเองก็มีฟัน 2 ชุด คือฟันน้ำนมและฟันแท้ ซึ่งฟันน้ำนมของพวกเค้าจะเริ่มขึ้นในช่วงวัยนี้

ช่วงอายุ 6 – 9 สัปดาห์

ลูกสุนัขวัย 6 สัปดาห์ สามารถฉีดวัคซีนเข็มแรกได้แล้ว (เข็มต่อ ๆ มา สามารถเริ่มได้หลังจากเข็มแรก 2 – 4 สัปดาห์ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์) ในช่วงอายุ 6 – 8 สัปดาห์ เป็นวัยหย่านมของลูกสุนัข เจ้าของสามารถให้อาหาร 4 – 5 มื้อต่อวัน ในช่วงอายุ 6 – 9 สัปดาห์ เป็นวัยที่เหมาะสำหรับการรับเลี้ยง เพราะเจ้าตัวน้อยจะสามารถแยกตัวจากแม่และพี่น้องในครอกได้แล้ว โดยแนะนำให้พูดคุยกับผู้เพาะพันธุ์หรือผู้จำหน่ายสุนัขเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนและการถ่ายพยาธิของลูกสุนัขให้เรียบร้อยก่อน รวมถึงควรปรึกษาสัตวแพทย์เรื่องวิธีการดูแลและการทำหมันก่อนรับลูกสุนัขมาเลี้ยง ช่วงวัยนี้เป็นช่วงสำคัญของพัฒนาการลูกสุนัข เจ้าของควรฝึกทักษะต่าง ๆ และการเข้าสังคมให้พวกเค้า เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับคนและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ในกรณีที่ลูกสุนัขยังไม่ได้รีบวัคซีน และคุณต้องการพาพวกเค้าออกไปเดินเล่น เราแนะนำให้คุณอุ้มพวกเค้าเอาไว้ และหลีกเลี่ยงให้พวกเค้าอยู่ใกล้บริเวณที่มีสุนัขตัวอื่นอยู่

ช่วงอายุ 8 – 12 สัปดาห์

เป็นช่วงวัยที่คุณสามารถให้อาหารพวกเค้าเพียง 3 มื้อต่อวัน และพาไปรับวัคซีนเข็มสองได้แล้ว อย่าลืมปรึกษาสัตวแพทย์ถึงระยะเวลาที่ปลอดภัยหลังฉีดวัคซีน เพื่อให้การเดินเล่นนอกบ้านและพบปะเพื่อน ๆ สี่ขาเป็นไปอย่างราบรื่น

ช่วงก่อนโตเต็มวัย

มาถึงช่วงสุดท้ายของพัฒนาการลูกสุนัข พวกเค้ากำลังเริ่มเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัย คุณจะพบกับการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจน อวัยวะรับสัมผัสทั้งหมดของพวกเค้าจะได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ แต่อัตราการเจริญเติบโตจะช้าลง เหล่านี้ถือเป็นจุดสำคัญของพัฒนาการสุนัขในวัยนี้ แม้ว่าพัฒนาการของสุนัขในวัยนี้จะเริ่มเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัยแล้ว แต่พวกเค้าก็ยังคงต้องกินอาหารสูตรสำหรับลูกสุนัขอยู่ โดยจะสามารถเปลี่ยนสูตรอาหารได้เมื่อมีอายุครบ 1 ปี (สำหรับสุนัขพันธุ์เล็ก) หรือเมื่อมีอายุ 18 – 24 เดือนขึ้นไป (สำหรับสุนัขพันธุ์ใหญ่) เราอาจจะเผลอมองข้ามการเจริญเติบโตของหมาในช่วงเวลานี้ไป แต่หากสังเกตดี ๆ จะพบว่าพวกเค้ามีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระร่างกาย เมื่อมีอายุ 6 เดือน ลูกสุนัขจะมีทักษะการเคลื่อนไหวคล้ายสุนัขโตเต็มวัย แต่ก็จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสุนัขแต่ละตัว และสภาพแวดล้อมที่ถูกเลี้ยงมา อีกหนึ่งการเจริญเติบโตของสุนัขที่พบได้เมื่อพวกเค้ามีอายุ 7 เดือนคือ การมีฟันแท้เข้ามาแทนที่ฟันน้ำนม เจ้าของควรฝึกลูกสุนัขเข้าสังคมอย่างต่อเนื่อง และเริ่มจัดตารางการฝึกทักษะต่าง ๆ เพิ่มเติม ลูกสุนัขในวัยนี้จะมีสมาธิค่อนข้างสั้น เบื่อง่าย การฝึกแต่ละครั้งจึงควรใช้เวลาสั้น ๆ เน้นฝึกบ่อยครั้ง อาจฝึกในลักษณะของการเล่มเกมเพื่อเพิ่มความสนุก พัฒนาการของสุนัขในวัยนี้ หรือในช่วงอายุ 6 – 7 เดือน จะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ สุนัขตัวผู้อาจแสดงความสนใจเพศตรงข้ามก่อนสุนัขตัวเมีย แม้ว่าการเจริญเติบโตของสุนัขในวัยนี้จะเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นสุนัขที่โตเต็มวัย

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับพัฒนาการลูกสุนัข

ลูกสุนัขจะกลายเป็นสุนัขโตเต็มวัยเมื่ออายุเท่าไหร่?

สายพันธุ์เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของหมา ซึ่งทำให้สุนัขแต่ละพันธุ์เข้าสู่ช่วงโตเต็มวัยด้วยอายุที่แตกต่างกัน สุนัขพันธุ์ตุ๊กตาจะโตเต็มวัยเมื่อมีอายุ 9 เดือน สุนัขพันธุ์เล็กเมื่อมีอายุ 12 เดือน ส่วนสุนัขพันธุ์กลางและพันธุ์ใหญ่จะโตเต็มวัยเมื่อมีอายุ 18 เดือน

พัฒนาการลูกสุนัขช่วงใดคือช่วงที่รับมือได้ยากที่สุด ?

ลูกสุนัขจะติดนิสัยกัดหรือแทะสิ่งของจนโตเลยหรือไม่ ?

เราจะฝึกวินัยให้ลูกสุนัขได้อย่างไรบ้าง ?

Pedigree imagery
ช้อปผลิตภัณฑ์เพดดิกรี®
Close popup