PEDIGREE TH
ค้นหา
การรักษาอาการเจ็บป่วย

การปฐมพยาบาลสุนัขบาดเจ็บ

การปฐมพยาบาลสุนัขเบื้องต้น

วิธีปฐมพยาบาลน้องหมาในกรณีฉุกเฉิน

มื่อพูดถึงการปฐมพยาบาล แค่เพียงเสี้ยวนาทีก็สามารถพลิกสถานการณ์ได้แล้ว มาดูวิธีการปฐมพยาบาลสุนัขกัน เริ่มจากประเมินอาการของสุนัขก่อน โดยดูการหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ และอุณหภูมิของร่างกาย

การปฐมพยาบาลคืออะไร?

การปฐมพยาบาลเป็นการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่สุนัขบาดเจ็บหรือล้มป่วยอย่างกะทันหัน เพื่อลดความเจ็บปวด ป้องกันไม่ให้อาการย่ำแย่ลง ลดความเสี่ยงของภาวะพิการและการเสียชีวิต ก่อนที่จะส่งพวกเค้าไปรักษากับสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

เมื่ออยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินควรรับมืออย่างไร?

ในกรณีที่สุนัขบาดเจ็บหรือล้มป่วยอย่างกะทันหัน สามารถทำตามคำแนะนำเหล่านี้ได้

  1. พยายามอย่าตื่นตระหนก และรีบปฐมพยาบาลให้กับน้องหมา จากนั้นตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีสิ่งผิดปกติใดเกิดขึ้นอีกหรือไม่
  2. หากน้องหมาไม่ได้อยู่ในภาวะฮีทสโตรก ควรทำให้ร่างกายของพวกเค้าอบอุ่นและหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในกรณีที่กระดูกหักหรือมีบาดแผลรุนแรง
  3. หลังจากปฐมพยาบาลสุนัขเรียบร้อยแล้ว รีบติดต่อสัตวแพทย์พร้อมชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ ให้ครบถ้วน คุณหมออาจให้คำแนะนำหรือวิธีการดูแลเพิ่มเติมในบางกรณี
  4. หากต้องเคลื่อนย้ายตัวน้องหมา แนะนำให้หาผู้ช่วยเพื่อยกตัวพวกเค้าขึ้นเปลหามหรือจับเข้ากรงอย่างปลอดภัย
  5. รีบพาไปคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ที่ใกล้ที่สุด

ภาวะฉุกเฉินที่สามารถพบได้ในน้องหมา

ภาวะช็อกหมายถึงอะไร?

ภาวะช็อกเป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ซึ่งส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงและนำไปสู่ภาวะขาดออกซิเจน หรือกล่าวง่าย ๆ คือการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงตามส่วนต่างๆ ไม่เพียงพอ เป็นผลให้เซลล์ต่าง ๆ ขาดออกซิเจน สาเหตุของภาวะนี้อาจเกิดจากสุนัขบาดเจ็บ การเสียเลือด ได้รับสารก่อภูมิแพ้ (จากอาหารหรือแมลงกัดต่อย) บาดเจ็บที่ไขสันหลัง สำลัก อาเจียน ท้องเสีย และหัวใจทำงานล้มเหลว ทั้งนี้ภาวะช็อกมีอันตรายถึงชีวิต หากพบเห็นอาการควรรีบพาน้องหมาไปพบสัตวแพทย์โดยทันที

สัญญาณบ่งบอกภาวะช็อกในสุนัขมีอะไรบ้าง?

อาการต่อไปนี้คือสัญญาณเริ่มต้นของภาวะช็อกที่คุณควรระวัง

  • เหงือกเปลี่ยนเป็นสีแดงสด
  • หายใจเร็วขึ้น ชีพจรและหัวใจเต้นเร็วและแรงขึ้น
  • มีอาการวิตกกังวลและเริ่มแสดงท่าทางไม่สบายใจ
  • อาจมีอาการหายใจตื้น หายใจไม่อิ่ม

ระยะต่อมาของภาวะช็อก อาจพบอาการดังต่อไปนี้

  • เหงือก ริมฝีปาก และเปลือกตาซีด หรือมีสีคล้ำอมน้ำเงิน
  • หายใจช้าลง อัตราการเต้นของหัวใจและชีพจรช้าลง
  • มีอาการอ่อนแรงและเหนื่อยล้า
  • ตัวเย็น ปากและปลายเท้าเย็น
  • อุณหภูมิร่างกายผิดปกติ (ลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน)
  • ตามัว ตาเบลอ และรูม่านตาขยาย

เราจะดูแลน้องหมาในภาวะช็อกอย่างไรได้บ้าง?

ในกรณีที่น้องหมาแสดงอาการบ่งบอกภาวะช็อก ควรรีบติดต่อสัตวแพทย์พร้อมชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ ให้ครบถ้วน และก่อนจะพาไปพบคุณหมอ คุณสามารถทำตามคำแนะนำเหล่านี้ได้:

  • นำผ้าห่มมาคลุมตัวน้องหมาเอาไว้เพื่อเพิ่มความอบอุ่น
  • หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหว เพื่อลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บ
  • หากมีบาดแผลเปิด ควรทำแผลเบื้องต้นก่อน หากมีเลือดออกมาก ให้ห้ามเลือดโดยใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดกดบาดแผลเอาไว้
  • หากมีสิ่งแปลกปลอมให้นำออกจากปาก และสังเกตว่าการหายใจผิดปกติหรือไม่
  • เจ้าของอย่าตื่นตระหนก และพยายามทำให้น้องหมาอยู่ในภาวะสงบ ก่อนรีบไปพบสัตวแพทย์ในทันที

อาการชัก

สาเหตุของอาการชัก

อาการชักเป็นภาวะที่เกิดจากการส่งกระแสประสาทในสมองผิดปกติ หรือคลื่นไฟฟ้าในสมองผิดปกติ คล้ายกับไฟฟ้าช็อตลัดวงจร ในระหว่างการชัก น้องหมาจะวิ่งวนเป็นวงกลม สั่นอย่างควบคุมไม่ได้ มีอาการกระตุก น้ำลายไหล กัดแทะ ปัสสาวะหรือขับถ่ายอย่างควบคุมไม่ได้ และอาจถึงขั้นหมดสติ นอกจากนี้จะไม่รับรู้ถึงสิ่งต่าง ๆ รอบตัว สับสนมึนงง และทรงตัวไม่ได้ อาการชักอาจเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วินาทีหรืออาจนานหลายนาทีเลยก็ได้ โดยสาเหตุของอาการเกิดจากปัจจัยเหล่านี้

  • เกิดการบาดเจ็บบริเวณศีรษะ
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคมะเร็งสมอง
  • โลหิตจาง
  • ภาวะไม่สมดุลของน้ำตาลในเลือด
  • ภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย
  • โรคไข้สมองอักเสบ
  • โรคตับ
  • โรคไต
  • การได้รับสารพิษ

ควรทำอย่างไรหากน้องหมามีอาการชัก?

น้องหมามีอาการชักอาจสร้างความกังวลได้ไม่น้อย แต่ทางที่ดีเจ้าของควรใจเย็นและอย่าตื่นตระหนก เพื่อให้ดูแลน้องหมาเบื้องต้นได้อย่างเหมาะสม เป็นการลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ หากพบว่าน้องหมามีอาการชัก คุณสามารถทำตามคำแนะนำเหล่านี้

  • หากพบว่าบริเวณรอบ ๆ ตัวน้องหมามีสิ่งแปลกปลอมหรืออยู่ใกล้พื้นที่อันตราย เช่น เฟอร์นิเจอร์หรือบันได ให้ค่อย ๆ ย้ายตัวพวกเค้าอย่างระมัดระวัง
  • ในขณะที่น้องหมาชัก พวกเค้าจะควบคุมตัวเองไม่ได้และอาจหันมากัด ดังนั้นให้พยายามออกห่างจากบริเวณศีรษะของพวกเค้า
  • เช็กเวลาว่าน้องหมาเริ่มชักเมื่อไหร่ นานแค่ไหน เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญในการวินิจฉัยและรักษา
  • หากอาการชักเกิดขึ้นเป็นเวลานาน อาจทำให้อุณหภูมิร่างกายน้องหมาสูงขึ้นได้ อาจทำให้พวกเค้าเย็นลงโดยเปิดพัดลมให้และใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดบริเวณอุ้งเท้า
  • ติดต่อสัตวแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยทันที

มีเลือดออก

สาเหตุ

อุบัติเหตุทางรถยนต์, การต่อสู้, การตกจากที่สูง หรือมีบาดแผลร้ายแรง

สิ่งที่ควรทำ

กรณีที่สุนัขมีบาดแผลฉีกขาดไปถึงเส้นเลือดใหญ่ ต้องรีบพาส่งโรงพยาบาลในทันที โดยสังเกตได้จากสีเลือดเป็นสีแดงสด เลือดจะพุ่งออกมาไม่หยุด ส่วนกรณีที่เป็นบาดแผลภายนอก ให้ใช้ผ้าขนหนูสะอาดหรือผ้าก๊อซปิดแผลกดไปที่บริเวณแผลอย่างน้อย 5 – 7 นาที จากนั้นรีบพาไปพบสัตวแพทย์ในทันที

อาเจียน

สาเหตุ

ได้รับสารพิษ, มีอาการบาดเจ็บบริเวณช่องท้อง, เจ็บป่วยจากการเคลื่อนไหว, กินอาหารมากเกินไป, ความกลัว, บาดเจ็บทางสมอง หรือมีปรสิตในร่างกาย

สิ่งที่ควรทำ

พยายามสังเกตสิ่งที่สุนัขอาเจียนออกมาและเก็บตัวอย่างไปให้สัตวแพทย์ กรณีที่ได้รับสารพิษ ควรเก็บตัวอย่างของที่สงสัยว่าเป็นพิษนำไปให้สัตวแพทย์ด้วย ในระหว่างนี้ไม่ควรให้น้ำหรืออาหารเด็ดขาด

ฮีทสโตรก

สาเหตุ

อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนเกินไป, ออกแรงมากเกินไป หรือขาดน้ำ

สิ่งที่ควรทำ

หากอุณหภูมิในร่างกายของสุนัขอยู่ที่ 104°F หรือสูงกว่านั้น สุนัขของคุณอาจเป็นโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก คุณควรพาสุนัขไปพักในที่ร่ม จากนั้นใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดไปตามตัวพวกเค้า และวัดอุณหภูมิทุกๆ 5 นาที จนกว่าอุณหภูมิจะลดเหลือ 103°F การเร่งปรับอุณหภูมิอาจเป็นอันตรายกับสุนัขได้ ให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์

เดินขากะเผลก

สาเหตุ

กระดูกหัก, ข้อต่ออักเสบ, บาดเจ็บบริเวณใต้อุ้งเท้า, กระดูกข้อเคลื่อน, ขาเคล็ด, กล้ามเนื้อบาดเจ็บ หรือมีเสี้ยนตำบริเวณอุ้งเท้า

สิ่งที่ควรทำ

หากพบว่าสุนัขกระดูกหัก อย่าพยายามจัดกระดูกเอง ให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์

โดนผึ้งหรือตัวต่อต่อย

ถ้าเป็นผึ้งต่อย ให้นำน้ำผสมเบกกิ้งโซดาในปริมาณน้อยๆ ทาบริเวณที่โดนต่อย แต่ถ้าเป็นตัวต่อ ให้ใช้น้ำส้มสายชูหรือน้ำมะนาวแทน หลังจากนั้นให้ประคบเย็น หากสุนัขมีอาการแพ้อย่างรุนแรง หรือหายใจผิดปกติ ให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์

สำลัก

สาเหตุ

มีสิ่งของติดอยู่ในคอ หรือที่หลอดลม หรือมีอาการแพ้

สิ่งที่ควรทำ

ค่อยๆ ดึงลิ้นของเค้าออกมา แล้วสำรวจดูภายในปากและลำคอ (ให้หยุดทันทีถ้าสุนัขพยายามกัดหรือไม่ให้ความร่วมมือ) ถ้าพบสิ่งของติดอยู่ ใช้มือหรือที่หนีบขนาดเล็ก ค่อยๆ ดึงออกมา ระวังอย่าให้สิ่งของเคลื่อนที่ลงไปลึกกว่าเดิม

หมดสติ

สาเหตุ

จมน้ำ, ถูกไฟดูดหรือไฟช็อต, ได้รับบาดเจ็บ หรือจากการกินยา

สิ่งที่ควรทำ

กรณีที่จมน้ำ ต้องรีบเอาน้ำออกจากปอด โดยยกขาหลังให้สูงกว่าหัว แล้วกอดรัดไปที่ช่วงอกหรือตรงใต้ซี่โครงจนกว่าน้ำจะออกมาหมด กรณีที่โดนไฟดูดหรือไฟช็อต อย่าสัมผัสตัวสุนัขจนกว่าจะปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าได้ ถ้าสุนัขของคุณไม่หายใจ หรือหัวใจไม่เต้น ให้ทำ CPR ทั้งนี้การปฐมพยาบาลไม่ใช่การรักษา หลังปฐมพยาบาล ควรรีบพาสุนัขบาดเจ็บไปพบสัตวแพทย์โดยทันที

การทำ CPR

เริ่มจากเอาสิ่งแปลกปลอมออกจากช่องปากสุนัขให้หมด โดยเปิดปากเค้าให้กว้าง ดึงลิ้นออกมา แล้วใช้นิ้วกวาดไปให้ทั่วช่องปาก หลังจากนั้นใช้มือรวบปากและคาง แล้วเป่าลมเข้าทางจมูกประมาณ 5 – 6 ครั้ง ถ้ายังไม่สามารถหายใจได้เองให้ทำต่อไป

การช่วยหายใจหรือการผายปอด

  • สุนัขน้ำหนักตัวมากกว่า 27 กิโลกรัมขึ้นไป ให้เป่าลม 12 ครั้งต่อนาที
  • สุนัขน้ำหนักตัวประมาณ 2 – 4 กิโลกรัม ให้เป่าลม 30 ครั้งขึ้นไปต่อนาที
  • ถ้าสุนัขหัวใจหยุดเต้น ให้เริ่มปั๊มหัวใจ โดยกดลงไปที่บริเวณหลังข้อศอก ทำติดต่อกันสลับกับผายปอด

การปั๊มหัวใจ

  • สุนัขน้ำหนักตัวมากกว่า 27 กิโลกรัมขึ้นไป ให้ปั๊ม 60 ครั้งต่อนาที
  • สุนัขน้ำหนักตัวตั้งแต่ 4 – 27 กิโลกรัม ให้ปั๊ม 80 – 100 ครั้งต่อนาที
  • สุนัขน้ำหนักตัวตั้งแต่ 2 – 4 กิโลกรัม ให้ปั๊ม 120 – 140 ครั้งต่อนาที
  • ถ้าสุนัขน้ำหนักน้อยกว่า 2 กิโลกรัม ให้วางมือไปที่บริเวณซี่โครง แล้วใช้วิธีบีบนวดแทน

เคล็ดลับการเคลื่อนย้ายสุนัขบาดเจ็บ

หากสุนัขที่บาดเจ็บมีขนาดตัวใหญ่ อย่าอุ้มหรือลากเด็ดขาด ให้ใช้อุปกรณ์ช่วยอย่างเปล ไม้กระดาน ผ้าห่ม หรือพรมเคลื่อนย้ายพวกเค้าแทน หากจำเป็นต้องพันแผลให้ใช้ผ้าก๊อซปิดแผลหรือผ้าขนหนูสะอาด พันเป็นเฝือกอ่อนให้พวกเค้า และพยายามอย่ากอดปลอบใจหรือเอาหน้าเข้าไปใกล้สุนัขที่บาดเจ็บ

อุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการปฐมพยาบาล

  • ผ้าก๊อซปิดแผล สำลีทั้งแบบแผ่นและแบบก้าน ผ้าพันแผล
  • คาลาไมน์โลชั่น หรือปิโตรเลียมเจล
  • ปรอทวัดอุณหภูมิ
  • กรรไกรสำหรับตัดผ้าพันแผลหรือตัดขนเพื่อให้เห็นบาดแผล
  • ที่หนีบ
  • ยาทาแผล น้ำยาฆ่าเชื้อ ยาหยอดตา
  • ผ้าห่มขนาดใหญ่ ผ้าขนหนู หมอน และถุงเท้า

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลสุนัข

การปฐมพยาบาลสุนัขมีวิธีอย่างไร?

เริ่มจากการตั้งสติ ใจเย็น และพยายามทำให้น้องหมาอยู่ในภาวะสงบ หากพวกเค้ามีแผลเปิด ให้ทำความสะอาดด้วยน้ำอุ่นและปิดบาดแผลด้วยผ้าก๊อซหรือผ้าชุบน้ำสะอาด ในกรณีที่เสียเลือดมาก ให้กดลงไปบริเวณบาดแผลเพื่อห้ามเลือด แนะนำให้หาผ้าห่มมาคลุมตัวเพื่อเพิ่มความอบอุ่น (ยกเว้นในกรณีที่เป็นฮีทสโตรก) และหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหว จากนั้นค่อย ๆ ย้ายตัวพวกเค้าไปไว้ในกรงหรือจับนอนบนเปลหาม ก่อนรีบไปพบสัตวแพทย์ทันที

วิธีการปฐมพยาบาลสุนัขที่ได้รับสารพิษทำอย่างไรบ้าง?

อุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการปฐมพยาบาลมีอะไรบ้าง? อุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการปฐมพยาบาลสุนัขมีดังต่อไปนี้

จะรู้ได้อย่างไรว่าน้องหมาของเราได้รับบาดเจ็บ? น้องหมาที่ได้รับบาดเจ็บ มักจะแสดงอาการดังต่อไปนี้

adp_related_article_block133 61 บทความการดูแลสุนัข